จดทะเบียนนิติบุคคล

จดทะเบียนนิติบุคคลประเภทไหนถึงใช่กับธุรกิจเรา

เมื่อธุรกิจต้องการขยับขยาย การดำเนินการในรูปแบบบุคคลธรรมดาอาจจะไม่สามารถตอบโจทย์ได้เพียงพอ นั่นจึงเป็นสาเหตุให้ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคล ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นรากฐานของความก้าวหน้าที่มาพร้อมความมั่นคงและความน่าเชื่อถือ

จดทะเบียนนิติบุคคลช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจ

การจดทะเบียนนิติบุคคลนั้นสามารถสร้างโอกาสได้มากกว่าการทำธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา เนื่องจากธุรกิจสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนช่องทางต่างๆ ได้สะดวก รวมถึงได้รับประโยชน์ในการขอสินเชื่อเพื่อธุรกิจ จะขอรับการสนับสนุนต่างๆ จากภาครัฐก็ย่อมได้ และได้รับสิทธิทางภาษีที่เหนือกว่าบุคคลธรรมดา เช่น อัตราภาษีที่ต่ำกว่า และไม่จำเป็นต้องเสียภาษีเมื่อผลประกอบการติดลบ (ขาดทุน) ที่สำคัญการจดทะเบียนนิติบุคคลยังช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคคลภายนอก แสดงถึงความโปร่งใส มีกฎระเบียบควบคุม และมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน

การจดทะเบียนนิติบุคคลนั้นมีหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนสามัญ ซึ่งคงบอกได้ยากว่ารูปแบบไหนดีกว่ากัน แต่ละรูปแบบก็มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน ธุรกิจคงต้องศึกษาและพิจารณาให้เหมาะสมกับบริบทของตนเอง และนี่อาจจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่จะต้องตัดสินใจในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจ ที่หลายคนไม่ค่อยให้ความสำคัญ ทั้งที่จริงๆ แล้วมีผลกระทบกับธุรกิจหลายด้าน

ข้อดีที่แตกต่างกัน

ประการแรกอยากให้ลองถอดหมวกด้านกฎหมายออกไปก่อน แล้วลองเปลี่ยนมาสวมหมวกของลูกค้าดูบ้าง เมื่อมองมาที่ตัวธุรกิจ คนส่วนใหญ่มักจะติดภาพว่าห้างหุ้นส่วนมีการดำเนินงานในรูปแบบครอบครัว ในขณะที่บริษัทมีการทำงานอย่างมืออาชีพและมีความน่าเชื่อถือมากกว่า หากธุรกิจจำเป็นต้องสื่อสารพูดคุยกับบุคคลภายนอกหลายฝ่าย หรือจำเป็นต้องเสนอขายสินค้าหรือบริการที่ต้องอาศัยความน่าเชื่อถือแล้ว การจดทะเบียนบริษัทก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจทีเดียว

ถ้าเช่นนั้นแล้วเราควรเลือกจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเลยดีไหม? อันที่จริงอาจจะต้องพิจารณาด้านอื่นประกอบด้วย เพราะห้างหุ้นส่วนก็ยังมีข้อดีหลายอย่างและอาจจะเหมาะกับธุรกิจที่ยังมีทรัพยากรไม่มาก อย่างจำนวนผู้เริ่มจัดตั้งหรือเงินลงทุน เป็นต้น ห้างหุ้นส่วนนั้นต้องมีผู้เริ่มจัดตั้งอย่างต่ำ 2 คนเท่านั้น ส่วนบริษัทจะต้องมีผู้เริ่มจดทะเบียนจัดตั้งจำนวน 3 คนขึ้นไป

หากพิจารณาในแง่การลงทุน การร่วมลงทุนในห้างหุ้นส่วนยังสามารถเลือกลงทุนได้ 3 รูปแบบ คือ ลงทุนด้วยเงิน หรือลงทุนด้วยทรัพย์สินอื่น หรือลงทุนด้วยแรงงาน แต่ในการลงทุนเพื่อจดทะเบียนจัดตั้งเป็นบริษัท จะต้องลงทุนด้วยเงินโดยการชำระค่าหุ้นเท่านั้น

ในส่วนของค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนจัดตั้งนั้น การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจะถูกกว่าการจดทะเบียนบริษัท

จดทะเบียนนิติบุคคล

ความรับผิดชอบในหนี้สิน

อีกประเด็นหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือความรับผิดชอบในหนี้สินของกิจการ หากจดทะเบียนจัดตั้งในรูปแบบของบริษัทจำกัด ผู้ถือหุ้นจะรับผิดชอบแค่เพียงเงินลงทุนที่ตนยังไม่ได้ชำระเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น บริษัท A มีทุนจดทะเบียนอยู่ที่ 1,000,000 บาท และได้ดำเนินการชำระทุนจดทะเบียนไปแล้ว 150,000 บาท หากโชคร้ายดำเนินกิจการแล้วบริษัทเกิดหนี้สิน 1,500,000 บาท ผู้ถือหุ้นก็จะมีหน้าที่รับผิดชอบเพียงทุนจดทะเบียนส่วนที่ยังค้างชำระของบริษัท คือ 850,000 บาท โดยรับผิดตามสัดส่วนการถือหุ้นของตัวเองเท่านั้น เรียกว่ามีการจำกัดความรับผิดไว้เฉพาะค่าหุ้นที่ยังไม่ได้ชำระ

แต่หากจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในรูปแบบของห้างหุ้นส่วน โดยเฉพาะห้างหุ้นส่วนสามัญแล้ว หุ้นส่วนทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบในหนี้สินทั้งหมดของห้างฯ ให้ครบจำนวนหนี้ เรียกได้ว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนั้น หุ้นส่วนทุกคนเป็นหุ้นส่วนแบบไม่จำกัดความรับผิด เช่น หากธุรกิจเกิดหนี้สิน 1,500,000 บาท หุ้นส่วนก็ต้องหาทรัพย์สินมาชำระคืนทั้งหมดเท่าจำนวนนี้ โดยไม่เกี่ยวกับว่าห้างฯ จะจดทะเบียนทุนไว้เท่าไร นั่นหมายถึงหุ้นส่วนอาจต้องชดใช้หนี้สินของห้างฯ ด้วยทรัพย์สินส่วนตัวที่เกินกว่าจำนวนเงินที่ลงทุนไป แต่ถ้าเลือกจดทะเบียนในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนจำกัด จะมีหุ้นส่วน 2 ประเภท คือ (1) หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด ที่ต้องรับผิดตามจำนวนเงินที่จะลงทุนเท่านั้น ไม่ต้องร่วมรับผิดในหนี้สินของห้างที่เกินกว่าเงินลงทุนของตน เช่น ร่วมลงทุนในห้างหุ้นส่วนจำกัดไว้ 500,000 บาท ต่อมาธุรกิจเกิดขาดทุน ห้างฯ มีหนี้สิน 1,500,000 บาท หุ้นส่วนจำกัดความรับผิดก็รับผิดแค่ 500,000 บาทที่ตัวเองลงทุนไว้ และ (2) หุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งต้องร่วมรับผิดในหนี้สินทั้งหมดของห้างฯ โดยไม่จำกัดความรับผิด ไม่ว่าตัวเองจะลงทุนไว้เท่าไหร่ก็ตาม

การจดทะเบียนนิติบุคคลถือเป็นจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ เมื่อเทียบกับการต้องบริหารธุรกิจ แต่ก็มีรายละเอียดมากมายที่ควรต้องศึกษาและพิจารณาให้ถี่ถ้วน มิฉะนั้นอาจกลายเป็นการตัดสินใจผิดตั้งแต่ครั้งแรกเลยก็ได้ แต่หากไม่อยากให้การจดทะเบียนนิติบุคคลต้องกลายเป็นเรื่องปวดหัว ท่านก็สามารถเข้ามาปรึกษากับทางบริษัท สมนึกสุธี แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด ได้เช่นกัน เพื่อให้ช่วยวิเคราะห์ว่ากิจการหรือธุรกิจของท่าน เหมาะกับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลรูปแบบใด

จดทะเบียนบริษัท